วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557

ข่าวการศึกษา

วันนี้ (29ก.ย.) ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการพัฒนาระบบการผลิตครู ว่า จากการหารือร่วมกับคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ที่ผ่านมาได้มีการพูดถึงเรื่องการผลิตและพัฒนาครูไปบ้างแล้ว โดยตนได้ฝากให้ กกอ.ช่วยคิดอีกทางหนึ่ง เพราะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งเมื่อมีกระแสปฏิรูปเข้ามา ปรากฎว่ามีหลายฝ่ายได้เสนอข้อมูลไปให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)ด้วย ซึ่งก็มีการเสนอแนวทางเข้ามาอย่างหลากหลาย และเข้าใจว่าในส่วนของสถาบันผลิตครูเองก็มีการเสนอแนวทาง และแผนแม่บทในการพัฒนาระบบการผลิตครู ดังนั้นคงต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาดูว่าใครเสนออะไร อย่างไรบ้าง โดยจะมีการนัดหารือร่วมกับ กกอ.อีกครั้งในเร็ว ๆ นี้
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า เท่าที่ทราบข้อเสนอเกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาครู มีทั้งเสนอให้มีการปรับโครงสร้างหลักสูตรครู จากปัจจุบันที่มีหลักสูตรครูระดับปริญญาตรี 5 ปี เป็นหลักสูตร 6 ปีจบปริญญาโท รวมถึงจะมีช่องทาง หรือหลักสูตรอื่นๆ เพื่อเข้ามาช่วยในการผลิตครูให้มีคุณภาพมากขึ้น และยังมีเรื่องของครูสายอาชีวศึกษาที่จะต้องคิดด้วย เพราะต่อไปถ้าเด็กหันมาเรียนในสายวิชาชีพมากขึ้น ก็จะต้องผลิตครูให้เพียงพอและตรงตามความต้องการ ซึ่งเรื่องนี้มหาวิทยาลัยถือว่ามีส่วนสำคัญในฐานนะผู้ผลิตที่จะต้องปรับบทบาท ดังนั้น ตนจะขอดูรายละเอียดต่าง ๆ และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาพรวมก่อน โดยต้องดูนโยบายรัฐบาลและทิศทางการพัฒนาประเทศ เพื่อผลิตครูให้สอดคล้องกับการพัฒนากำลังคนในอนาคตด้วย
“ การผลิตครูจะต้องมองภาพรวมในอนาคตด้วย เพราะจากข้อมูลทราบว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ครูจะเกษียณอายุมากถึง 40% ของจำนวนครูทั้งประเทศ แต่ก็อาจไม่จำเป็นต้องบรรจุครูเท่ากับจำนวนที่เกษียณ เพราะอัตราการเกิดของเด็กลดลง เมื่อเป็นเช่นนี้จำเป็นต้องมาดูว่าจะต้องผลิตครูอย่างไร ให้ตรงตามความต้องการของประเทศเพราะในอดีตเราผลิตครูเพื่อสอนระดับ ม.3 ม.6 แต่ตอนนี้เราต้องการส่งเสริมให้เด็กเรียนสายอาชีพมากคน ต้องการให้จบ ปวช. ปวส.แล้วไปทำงานเราก็ต้องคิดว่าจะผลิตครูแบบไหน เพื่อไปสอนเด็กให้ได้ตามวัตถุประสงค์ แต่ก็ยอมรับว่าเรายังไม่ได้คิดไปถึงขนาดนั้น” ดร.กฤษณพงศ์กล่าวและว่า สำหรับการส่งเสริมให้เด็กมาเรียนในสายอาชีพมากขึ้นนั้นก็มีแนวคิด ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ควรร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)จัดการเรียนการสอนที่เน้นทางวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้วแต่ยังไม่มาก เพื่อให้ต่อไปเด็กที่จบ ม.6 ไปแล้วสามารถทำงานได้ทันที เพราะมีทักษะทางวิชาชีพ แม้ไม่ได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษา
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ตนจะหารือ กกอ.ในเรื่องการปรับระบบการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้วย เนื่องจากปัจจุบันมี 3 ระบบ คือ ระบบรับตรง ระบบโควตา และการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือแอดมิชชั่นให้เป็นระบบที่มีความยุติธรรม ไม่เหลื่อมล้ำ ซึ่งเรื่องนี้ต้องหารือผู้เกี่ยวข้องอย่างที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ด้วย.

ที่มา :  http://www.dailynews.co.th/Content/education/270286

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น